งานวิจัยไทบ้าน

          คำว่า “ไทบ้าน” เป็นภาษาอีสานซึ่งหมายถึงชาวบ้าน   งาน “วิจัยไทบ้าน” หมายถึงงานวิจัยที่มีชาวบ้านเป็นตัวหลักในการดำเนินงานเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การตั้งหัวข้อวิจัย การคัดเลือกนักวิจัยซึ่งเป็นชาวบ้าน การเก็บข้อมูล และการสรุป   หรืออาจจะกล่าวได้ว่างานวิจัยไทบ้านเป็นการวิจัยที่ทำโดยชาวบ้าน บนฐานของความรู้ท้องถิ่น และเพื่อประโยชน์ท้องถิ่น    วัตถุประสงค์และลักษณะสำคัญ 2 ประการของงานวิจัยประเภทนี้คือ 1) การศึกษาและบันทึกความรู้พื้นบ้าน 2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น   ซึ่งหากขาดวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นงานวิจัยไทบ้านแต่อย่างใด    งานวิจัยไทบ้านนอกจากจะเป็นเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือด้วย

          งานวิจัยประเภทนี้มีต้นกำเนิดมาจากการทำวิจัยของชาวบ้านในลุ่มน้ำมูนตอนปลายที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อนำข้อมูลความรู้ที่ได้เกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนมาเป็นหลักฐานโต้แย้งกับข้อมูลของภาครัฐซึ่งทำงานวิจัยออกมาอย่างไม่เที่ยงตรงและมีความเป็นธรรม   หลังที่ได้ถูกกำเนิดขึ้นและได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วน งานวิจัยประเภทนี้ได้นำไปใช้และเผยแพร่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งอีก 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง

          งานหลักของสถาบันฯ เกี่ยวกับงานวิจัยไทบ้านคือ 1) การทำวิจัยร่วมกับชุมชนลุ่มน้ำ 2) การพัฒนาและเผยแพร่งานวิจัย  3) การสนับสนุนท้องถิ่นต่างๆในการทำการวิจัยของตัวเอง

ความรู้ท้องถิ่น

         ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศลุ่มน้ำสามารถแบ่งได้หลายระดับและประเภทตั้งแต่ 1) ความรู้พื้นฐานเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรแต่ละอย่าง เช่น ความรู้เรื่อง ปลา เรื่องดิน ต้นไม้   2) ความรู้ที่เป็นระบบการจัดการที่รวมเอาความรู้พื้นฐานแต่ละอย่างเข้ามาผสมกัน เช่น ความรู้ระบบการทำนาที่ต้องอาศัยความรู้เรื่องข้าวผสมกับความรู้เรื่องดิน น้ำ และอื่นๆ  3) ความรู้เชิงสถาบันในการจัดการสังคม เช่น ระบบกรรมสิทธิ์ในพื้นที่หาปลา ที่ดินทำนา เป็นต้น  4) โลกทัศน์ หรือศาสนาความเชื่อของคนในชุมชนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ เช่น ความเชื่อเรื่องผีขุนน้ำ พุทธศาสนาและธรรมชาติ แม่โพสพ แม่ธรณี หรือ ความเชื่อของชุมชนลุ่มน้ำบางพื้นที่ที่ว่า “ผี” เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์เป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ เป็นต้น

          ความรู้ท้องถิ่นไม่ได้มีเพียงความรู้เรื่องดิน ฟ้า อากาศ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ การเกษตร หรือสังคมวัฒนธรรมรอบๆท้องถิ่นนั้นๆเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรู้อื่นๆที่ดูจะไกลตัวทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระดับประเทศหรือระดับโลกซึ่งปฏิสัมพันธ์กับอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ความรู้เรื่องธนาคารโลก สิทธิมนุษยชน การเมือง นักการเมือง และระบบราชการในการจัดการปัญหาเขื่อนปากมูล ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดังกล่าว ที่ได้สั่งสมความรู้จากการต่อสู้มายาวนานกว่า 25 ปีและกลายเป็นชุดความรู้เฉพาะถิ่นของตนเองเรื่องการเมืองเรื่องการจัดการน้ำ    ซึ่งความรู้ท้องถิ่นเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนิ่งไปตามเงื่อนไขทางพื้นที่และเวลา

          ความรู้ท้องถิ่นมีความสำคัญต่อชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง และดำรงอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน    ศูนย์เรียนรู้ท้องถิ่น ด้านนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำ หรือ อาจจะเรียกว่า "สถาบันความรู้ชาวบ้าน" จะมีส่วนสำคัญในการผลิต เก็บรักษา และเผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นเอง   ที่สำคัญมันยังจะเป็นกลไกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศลุ่มน้ำในท้องถิ่นนั้นๆด้วย โดยการทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือ หรือที่ปรึกษาหารือของชุมชน   

          สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ท้องถิ่นในชุมชนริมแม่น้ำโขง เช่น โฮงเฮียนแม่น้ำโขง ที่ดำเนินการโดยกลุ่มรักษ์เชียงของในอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย ศูนย์เรียนรู้ชุมชนหมู่บ้านตามุย ในอำเภอโขงเจียมจังหวัดอุบลราชธานี 

งานวิจัยไทบ้านของเรา

กิจกรรมการฝึกอบรม

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

 
สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง  78/1 ม. 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

Mekong Community Institute  78/1 moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200

Email: teerapong@mekongci.org

FB: FaceBook.com/mekongcom   YouTube: YouTube/MCI

"ส่งเสริมธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำเพื่อการจัดการระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงที่ยั่งยืน"

“promote good water governance for sustainable management of Mekong ecosystems”

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา

 

up