เขื่อนแม่น้ำโขง

               การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำนานาชาติที่มีความยาวกว่า 4,909 กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่อันซับซ้อนทั้งด้านระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง  จะสร้างผลกระทบอย่างซับซ้อนและเรื้อรังแก่ภูมิภาค ตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความซับซ้อนและเรื้อรังของปัญหาเขื่อน คือ เขื่อนปากมูลซึ่งเกิดผลกระทบด้านต่างๆมากมายและได้นำมาซึ่งความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่สามารถที่จะเยียวยาได้แม้ชาวบ้านจะได้ต่อสู้และเรียกร้องมาอย่างยาวนานถึง 25 ปี

               น้ำจากแม่น้ำโขงในส่วนประเทศจีนคิดเป็น 100% ของปริมาณน้ำในส่วนภาคเหนือของไทย และ 45% ของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงทั้งหมด การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย หลังจากเขื่อนตัวแรกสร้างเสร็จ (เขื่อนม่านวาน)   เมื่อปี 2539 ผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นโดยน้ำลดลงผิดปกติ   ปี 2543 ผลกระทบเกิดชัดเจนขึ้น น้ำโขงผันผวนขึ้นๆลงๆ ซึ่งเห็นชัดในช่วงหน้าแล้ง (มค.-เม.ย.)   ปี 2545-46 เกิดผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหน้าแล้ง น้ำโขงขึ้นลงทุก 3 วัน เพราะมีการเก็บกักน้ำและปล่อยน้ำเพื่อทำโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง   ปี 2551 เกิดน้ำท่วมรุนแรงซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกิดจากเขื่อนจีนเพราะเกิดขึ้นในเดือนพค.ซึ่งไม่มีฝนตก   และปี 2553 เกิดน้ำโขงแห้งรุนแรงช่วงเดือน มีค. ซึ่งความผิดปกติที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงช่วงจังหวัดเชียงราย นอกจากน้ำท่วมในปี 2551 ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานด้วย หลังจากนั้นมาแม่น้ำโขงก็มีการผันผวนมาโดยตลอดน้ำขึ้นๆลงๆรายวัน จากปกติที่ใช้เวลาในการขึ้นและลง 3-4 เดือน 

               กรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงนั้นจะสร้างผลกระทบที่รุนแรง กว้างขวาง ยุ่งยาก และซับซ้อนมากกว่าเขื่อนปากมูลหลายเท่า เนื่องจากแม่น้ำโขงมีระบบนิเวศที่ซับซ้อนกว่ามากและผูกพันกับผู้คนจำนวนมากในหลายประเทศ อันจะเกิดผลกระทบโดยตรงกับทั้งชาวบ้านและคนในเมืองหลายจังหวัดที่ตั้งอยู่ตลอดริมฝั่งโขงของไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ทั้งยังเกิดขึ้นภายใต้ยุคสมัยที่โลกเชื่อมโยงกันหมดอย่างรวมเร็วและสังคมไทยกำลังเรียกร้องการปฏิรูป ยังไม่รวมถึงข้อกังวลของนานาชาติและความซับซ้อนของบริบทลุ่มน้ำโขง   จากนี้ไปปัญหาต่างๆหลายแง่หลายมุมจะทยอยผุดขึ้น สะสม และพัวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆตลอด 30 – 40 ปีข้างหน้า บางปัญหาอาจจะลุกลามไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่รุนแรงของภูมิภาค 

               ในแง่มุมที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยคือ 1) การปิดกั้นเส้นทางปลา ซึ่งในจำนวนกว่า 1,200 – 1,700 ชนิดพันธุ์ของปลาแม่น้ำโขง 39% ของปลาที่จับได้เป็นปลาที่มีวงจรชีวิตต้องอพยพทางไกล  2) การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำทั้งปริมาณและช่วงเวลา ปริมาณการไหลและการขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติจะส่งผลถึงการทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำและพันธุ์ปลา การกัดเซาะตลิ่งทำลายพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย การใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคอย่างน้ำประปา การเปลี่ยนร่องน้ำและเส้นพรมแดน  3) การปิดกั้นตะกอน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศ พื้นที่ริมฝั่ง และการเกษตรริมฝั่งโขง

              ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 11 เขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย เขื่อนสะนะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนท้าค้อ เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนสตึงเต็ง และเขื่อนซำบอ

              สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง จะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นรวมทั้งภาคส่วนอื่นๆในการยับยั้งภัยคุกคามต่อลุ่มน้ำจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นี้ ทั้งโดยการรณรงค์ การศึกษาและเผยแพร่ความรู้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการตัดสินใจผ่านกิจกรรมและกลไกต่างๆ

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 map Mekong dams in China

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง 

 

 
สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง  78/1 ม. 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

Mekong Community Institute  78/1 moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200

Email: teerapong@mekongci.org

FB: FaceBook.com/mekongcom   YouTube: YouTube/MCI

"ส่งเสริมธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำเพื่อการจัดการระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงที่ยั่งยืน"

“promote good water governance for sustainable management of Mekong ecosystems”

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา

 

up