"สื่อไทบ้าน" (Taibaan Media)
"สื่อไทบ้าน" (Taibaan Media) พัฒนาแนวคิดมาจากงานวิจัยไทบ้าน (Taibaan Research) มันเป็นการสื่อสารที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่น ซึ่งมีชาวบ้านเป็น ”เจ้าของ” สื่อซึ่งเนื้อหาเกิดจากการร่วมกันคิดและสื่อสารออกมาโดยชุมชนบนฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งชาวบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำการผลิตเอง แต่อาจมีผู้ช่วยทำหน้าที่เป็นกระบวนกรและนักเทคนิคในการถ่ายทำและตัดต่อ “สื่อไทบ้าน” มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ประการคือ 1) การสื่อสารและเชื่อมโยงของคนภายใน ระหว่างท้องถิ่น และกับคนภายนอก 2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
"สื่อ" ทั่วไปในปัจจุบันส่วนมากมักอิงอยู่กับความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อำนาจส่วนกลาง และทุนเป็นสำคัญ แต่สื่อไทบ้านเป็นการผสมผสานกันของความรู้ท้องถิ่นกับความรู้สมัยใหม่ด้านการสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดหลักเรื่องการเสริมสร้างอำนาจให้กับท้องถิ่นและการสื่อสารเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ทุกคนปฏิบัติในชีวิตประจำวันซึ่งมีรูปแบบและเนื้อหาหลากหลายรวมไปถึงการนินทา
ปัจจุบัน MCI กำลังพัฒนาสื่อไทบ้านเพื่อการเชื่อมโยงกัน (Connectivity) ของท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง (Mekong Locality) โดยการผลิตสื่อ 3 รายการคือ "ข่าวชาวโขง" "เบิ่งคนเบิ่งโขง" และ "แซบปลาแม่น้ำโขง"